News
ไตวายเรื้อรังในสุนัขและแมว (2)
การประเมินสุนัขป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์ ควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจต่อเจ้าของสัตว์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการดูแล และการจัดการที่เหมาะสมต่อไป เพราะหากสุนัขป่วยมาด้วยอาการไตวายเรื้อรัง การพยากรณ์โรคมักไม่ดีเพราะหลายรายมักมาด้วยภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้ายๆ และมักมีภาวะป่วยแอบแฝงร่วมด้วย
สุนัขป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังจะประเมินจาก "อาการภายนอก" ร่วมกับการประเมิน "การทำงานของไต" จาก
1. การตรวจเลือด
2. ตรวจปัสสาวะ
3. ตรวจปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการทำงานของไต เช่น ความดันโลหิต
อาการของสุนัขที่ภาวะไตวายเรื้อรัง
1. อาเจียน มักจะเริ่มจากอาเจียนสัปดาห์ละครั้งหรือสัปดาห์ละหลายครั้ง หรือวันละหลายครั้งจนทำให้ เกิดภาวะไม่สามารถรับประทานอาหารได้
2. เบื่ออาหาร เริ่มจากทานน้อยลงจนไม่ทานเลย
3. มีกลิ่นเปลี่ยนไปในช่องปาก
4. การถ่ายอุจจาระเปลี่ยนไป อาจมีการถ่ายบ่อยและเนื้ออุจาระมีการเปลี่ยนแปลง อุจจาระไม่เป็นก้อน อุจจาระนิ่ม มีสีเปลี่ยนแปลงเป็นสีดำ มีเลือดปน
5. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอนมากขึ้น
6. ปัสสาวะมากขึ้น ลักษณะปัสสาวะใสตลอดเวลา หรืออาจพบ ปัสสาวะน้อยลง
7. พบแผลในช่องปาก
8. พบภาวะการขาดน้ำ
9. มีเยื่อเมือกซีด
การตรวจเลือด
1. พบภาวะโลหิตจาง
2. ค่ายูเรียในเลือด(BUN) เพิ่มสูงขึ้น
3. ค่าครีเอตินีน (Creatinine) สูงขึ้น
4. ค่าอัตราแคลเซียมและฟอสฟอรัส ไม่สมดุล
5. ค่าอิเล็คโตไลค์ไม่สมดุล เช่น โซเดียม โปตัสเซียม คลอไรด์
6. ค่าโปรตีนในเลือดเปลี่ยนแปลง
การตรวจปัสสาวะ
1. พบโปรตีนในปัสสาวะ
2. อัตราส่วนของค่าโปรตีนต่อครีเอตินีน ( Protein : Creatinine ratio) เพิ่มขึ้น
การตรวจวัดความดัน - พบความดันเพิ่มสูงขึ้น
สัตวแพทย์ จะแบ่งระยะความรุนแรงของโรคไตตามระบบของ International Renal Interest Society (IRIS) เป็น 4 ระยะ
ระยะ 1: ไตทำงานปกติค่า Creatinine ในเลือด < 1.4 mg/dl
ระยะ 2: ไตทำงานได้ประมาณ 33 % ค่า Creatinine ใน เลือดอยู่ระหว่าง 1.4 - 2.0 mg/dl
ระยะ 3: ไตทำงานได้ประมาณ 25 % ค่า Creatinine ในเลือดอยู่ระหว่าง 2.0 - 5.0 mg/dl
ระยะ 4: ไตทำงานได้ประมาณ 10 % ค่า Creatinine ในเลือด มากกว่า 5.0 mg/dl
นอกจากนี้ในแต่ละระยะ จะแบ่งความรุนแรงแยกย่อยออกมาอีกได้แก่ การตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะโดยดูอัตราส่วนของโปรตีนและครีเอตินีน แบ่งเป็น 3 sub-stages
1. Non-Proteinuric ค่า UP/C น้อยกว่า 0.2
2. Borderline Proteinuric. ค่า UP/C อยู่ระหว่าง 0.2 -0.5
3. Proteinuric. ค่า UP/C มากกว่า 0.5
ประเมินปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำงานของไตมากขึ้นจากระดับ "ความดันโลหิต"
1. AP0 ความดันโลหิตระหว่าง 130-150 mmHg มีความเสี่ยงที่จะทำลายเนื้อไตน้อย
2. AP1 ความดันโลหิตระหว่าง 150-160 mmHg มีความเสี่ยงที่จะทำลายเนื้อไตต่ำ
3. AP2 ความดันโลหิตระหว่าง 160-180mmHg. มีความเสี่ยงที่จะทำลายเนื้อไตปานกลาง
4. AP3 ความดันโลหิตมากกว่า180 mmHg. มีความเสี่ยงที่จะทำลายเนื้อไตสูง
ดังนั้นหากนำสุนัขป่วยไปพบสัตวแพทย์ และ คุณหมอวินิจฉัยว่าน้องเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ควรสอบถาม - การประเมินภาวะไตวายเรื้อรังในระยะต่างๆจากคุณหมอ เพื่อร่วมมือกับคุณหมอในการวางแผนการรักษา การจัดการ
แนวทางหลักคือทำให้น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ส่วนการหายจากภาวะโรคไตวายเรื้อรัง....... ไม่หายครับ
ปกติคุณหมอจะตรวจและเขียนระยะการป่วยเช่น
CKD stage 1-N-AP0 : หมายความว่าน้องไตวายเรื้อรังระยะที่ 1 ไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ สัดส่วนโปรตีนและ creatinince ต่ำ และความดันโลหิตไม่สูง ยังไม่มีความเสี่ยงของโรคเนื่องจากภาวะความดัน
CKD stage 4-P-AP3 : หมายความว่าน้องเป็นไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 มีการสัดส่วนโปรตีนต่อ creatinineในปัสสาวะระดับสูง และมีภาวะความดันสูงเสี่ยงต่อการทำลายตัวเนื้อไตในระดับสูงสุด
ส่วนการรักษาค่อยมาว่ากันว่ามีภาวะป่วยอื่นแอบแฝงหรือไม่ มีความสำคัญ หรือมีผลต่อการรักษาร่วมกับภาวะไตวายเรื้อรังหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมเป็นกรณีๆไป
ข้อมูลโดย น.สพ.พิสิษฐ์ ศิริสัตยะวงศ์